ออกซิเจนบำบัด (Oxygen Therapy) เป็นวิธีที่นำมาใช้เพิ่มปริมาณออกซิเจนในปอดและกระแสเลือด สำหรับผู้ป่วยที่พบสัญญาณของเซลล์ในร่างกายบ่งชี้ว่าร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอหรือภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxemia) โดยผู้ป่วยที่มีระดับของออกซิเจนในร่างกายต่ำเหล่านี้ อาจมีสาเหตุจากโรคต่าง ๆ เช่น ปอดบวม มะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และกลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome: ARDS) ปัจจุบันผู้ป่วยสามารถใช้อุปกรณ์ให้ออกซิเจนบำบัดได้ทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน
ผู้ที่มีอาการขาดออกซิเจนหรือมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำเป็นอย่างไร?
เมื่อไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพออาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งหากพบว่าเกิดอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์
- หายใจสั้น
- หายใจเร็ว
- หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- ไอหรือหายใจมีเสียงหวีด
- เหงื่อออก
- สีผิวเปลี่ยนแปลงไป
- สับสน
ใครบ้างที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดด้วยออกซิเจน?
ออกซิเจนบำบัดนำมาใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับออกซิเจนได้ด้วยตนเอง โดยมักเกิดจากภาวะทางปอดที่ทำให้ปอดเกิดไม่ให้สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ ได้แก่
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)
- ปอดบวม (Pneumonia)
- โรคหืด (Asthma)
- การเจริญผิดปกติของหลอดลมและเนื้อปอด (Bronchopulmonary Dysplasia)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
- โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic Fibrosis) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ปอด ระบบทางเดินอาหารและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความเสียหาย
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
- โรคปอด (Lung Disease)
- การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ
แพทย์จะตรวจปริมาณออกซิเจนในหลอดเลือดแดง เพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยควรจะได้รับประโยชน์จากการบำบัดรักษาด้วยออกซิเจนหรือไม่ รวมไปถึงการใช้เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดและชีพจร ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ช่วยวัดระดับของออกซิเจนในเลือดได้ โดยระดับของออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงปกติจะอยู่ระหว่าง 75-100 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งหากพบว่ามีระดับออกซิเจนในเลือดเท่ากับ 60 มิลลิเมตรปรอท หรือน้อยกว่า แสดงว่าบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนเสริมหรือออกซิเจนบำบัด
อย่างไรก็ตาม การได้รับออกซิเจนปริมาณมากเกินไปสร้างความเสียหายให้แก่เซลล์ในปอดได้ โดยระดับของออกซิเจนในเลือดควรไม่เกิน 110 มิลลิเมตรปรอท
นอกจากนั้น บางรายอาจต้องได้รับออกซิเจนบำบัดไปตลอดชีวิต และบางรายต้องการเพียงแค่ชั่วคราวหรือจำเป็นแค่ในสถานการณ์หนึ่งเท่านั้น โดยออกซิเจนบำบัดสามารถทำได้ทั้งที่โรงพยาบาล ที่บ้าน หรือใช้ออกซิเจนแบบพกพาไปยังสถานที่ต่าง ๆ นอกบ้านได้สะดวก
ประโยชน์ของออกซิเจนบำบัด
ออกซิเจนบำบัดจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องประสบภาวะระดับออกซิเจนต่ำ ในรายที่มีความจำเป็นต้องใช้ ออกซิเจนบำบัดจะช่วยลดอาการที่เกิดจากการขาดออกซิเจนและช่วยให้บุคคลเหล่านั้นทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ยังทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นและยังช่วยยืดอายุขัยให้ผู้ป่วยจำนวนมาก
ออกซิเจนบำบัดช่วยลดอาการที่มาจากภาวะขาดออกซิเจน เช่น
- ปวดศีรษะ อ่อนล้า
- หายใจตื้น
- หงุดหงิด
- กระวนกระวาย
- ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาเด็กที่มีภาวะทางปอดเรื้อรัง
ประเภทของออกซิเจนบำบัด
ออกซิเจนบำบัดมีหลายประเภท ได้แก่
- แก๊สออกซิเจน แก๊สออกซิเจนจะบรรจุอยู่ในถังขนาดพกพาหรือเรียกว่าภาชนะบรรจุที่มีแรงดัน โดยเครื่องผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่จะใช้ที่บ้าน ส่วนขนาดเล็กลงมาสามารถพกพาไปนอกบ้านได้ นอกจากนั้น ถังออกซิเจนขนาดเล็กมักใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริม เพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้น
- ออกซิเจนเหลว จะมีความเข้มข้นของออกซิเจนสูงและสามารถบรรจุอยู่ในถังซึ่งมีปริมาณมากกว่าแบบแก๊ส หากทิ้งเอาไว้ไม่ได้ใช้งานในเวลาที่เหมาะสมจะทำให้ระเหยได้ แต่สามารถเติมได้ เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้ออกซิเจนมากหรือต้องเคลื่อนไหวมาก
อุปกรณ์สำหรับให้ออกซิเจน ได้แก่
- เครื่องผลิตออกซิเจน (Oxygen Concentrator) เป็นอุปกรณ์ให้ออกซิเจนจากถังผ่านทางท่อและเข้าสู่ปอดผ่านท่อสายยางทางจมูก หน้ากากหรือท่อที่ต่อเข้าโดยตรงกับหลอดลม ซึ่งการให้ออกซิเจนผ่านทางสายยางเข้าจมูกจะช่วยให้เคลื่อนไหวหรือพูดได้สะดวก แต่จะได้ปริมาณออกซิเจนน้อยกว่าวิธีอื่น ส่วนการสวมหน้ากากจะทำให้ไม่สะดวกทั้งการพูดและการรับประทานอาหาร นอกจากนั้น อุปกรณ์ชนิดนี้พกพาได้ไม่สะดวกเท่าวิธีอื่น ๆ ปัจจุบันนี้แม้จะมีขนาดพกพาแต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม โดยเครื่องผลิตออกซิเจนจะเน้นใช้ในการบำบัดรักษาโรค และมีข้อดีคือราคาไม่แพงและไม่ต้องเติมออกซิเจน
- ออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) เป็นการบำบัดซึ่งให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่มีแรงดันหายใจเอาออกซิเจนบริสุทธิ์เข้าไป ซึ่งในห้องนี้จะมีแรงดันบรรยากาศที่สูงกว่าปกติ 3 หรือ 4 เท่า สามารถช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้เข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยการบำบัดวิธีนี้มักจะใช้ในการรักษาแผล การติดเชื้อที่รุนแรง หรือเมื่อมีฟองอากาศในเลือด อย่างไรก็ตาม การบำบัดวิธีนี้จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ไม่ให้ปริมาณออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายสูงเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอันตราย เช่น
- เกิดการบาดเจ็บที่หูชั้นกลาง มีของเหลวไหลซึม หรือเยื่อแก้วหูฉีก เนื่องมาจากแรงดันอากาศที่เพิ่มขึ้น
- ปอดยุบตัว (Lung Collapse) เนื่องจากความดันที่เปลี่ยนแปลง
- การให้ออกซิเจนจากถัง (Oxygen Cylinders) แพทย์จะให้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการออกซิเจนในช่วงระยะเวลาอันสั้น เพื่อบรรเทาอาการหายใจไม่ออกจากการเจ็บป่วย โดยผู้ป่วยจะได้รับออกซิเจนจากหน้ากากหรือผ่านทางท่อสายยาง และระหว่างที่ใช้จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และจะหยุดให้ออกซิเจนเมื่อพบว่าออกซิเจนในเลือดกลับสู่ระดับปกติ
- เครื่องให้ออกซิเจนแบบพกพา (Portable Oxygen) ช่วยให้ผู้ป่วยเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก แต่จำเป็นต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าจะสามารถใช้ได้หรือไม่ เช่น ผู้ที่่สูบบุหรี่หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ โดยเครื่องให้ออกซิเจนชนิดนี้ให้ออกซิเจนได้ประมาณ 2 ลิตรต่อนาที หรืออาจมากกว่า และน้ำหนักของเครื่องให้ออกซิเจนแบบเต็มถังจะมีน้ำหนักประมาณ 2.3 กิโลกรัม และบรรจุออกซิเจนที่สามารถใช้ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง
การระมัดระวังและความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์สำหรับออกซิเจนบำบัด
แม้ว่าออกซิเจนจะไม่ใช่แก๊สที่ไวไฟ แต่เป็นปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการเผาไหม้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรใช้อย่างระมัดระวัง ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือระวังไม่ให้ผู้ใดสูบบุหรี่ในระหว่างที่กำลังใช้อุปกรณ์ให้ออกซิเจน
- ควรจัดวางอุปกรณ์ให้ออกซิเจนห่างจากไฟหรือแหล่งให้ความร้อน เช่น เตาแก๊ส อย่างน้อย 6 ฟุต
- อย่าใช้ของเหลวที่ติดไฟง่าย เช่น สารทำความสะอาด ทินเนอร์ หรือยาพ่นที่เป็นละอองในอากาศ ระหว่างที่ใช้อุปกรณ์ให้ออกซิเจน
- ควรจัดวางถังออกซิเจนให้ตั้งตรงเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
- ควรเก็บอุปกรณ์ให้ออกซิเจนไว้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่ควรเก็บไว้ในหีบใส่ของหรือตู้เสื้อผ้าขนาดเล็ก
- ควรเตรียมเครื่องดับเพลิงไว้ให้พร้อมใช้งาน
- ติดตั้งอุปกรณ์เตือนไฟไหม้หรือตรวจจับควันไฟในบ้านและตรวจสอบว่าใช้ได้อยู่เสมอ
- อาจแจ้งให้หน่วยดับเพลิงในพื้นที่ทราบว่าตนเองมีอุปกรณ์ให้ออกซิเจนในบ้าน
#✅✅ Atomic Oxygen Mist ออกซิเจนแบบพกพา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 🙏🙏🙏
ที่มา :: https://www.pobpad.com/ออกซิเจนบำบัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น