โสม สรรพคุณและประโยชน์ของโสมเกาหลี 25 ข้อ ! (Ginseng)
โสม
โสมเกาหลี ชื่อสามัญ Ginseng (จินเซ็ง), Panax, Korean ginseng, Asian ginseng
โสมเกาหลี ชื่อวิทยาศาสตร์ Panax ginseng C.A.Mey. จัดอยู่ในวงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ARALIOIDEAE
สมุนไพรโสมเกาหลี ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า โสมจีน, โสมคน, โสมสวน, โสมป่า, เซียมเซ่า, หยิ่งเซียม (จีนแต้จิ๋ว), เหยินเซิน (จีนกลาง) เป็นต้น
โสมเกาหลี
- ต้นโสมเกาหลี มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนเหนือและประเทศเกาหลี จัดเป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี ลำต้นฉ่ำน้ำ และมีขนาดประมาณ 60-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมและตั้งตรง มีรากเก็บอาการลักษณะพองโต แยกเป็นง่าม นิยมเก็บรากมาใช้เป็นยาเมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี โดยมักขึ้นใต้ร่มเงาไม้อื่น ลำต้นจะแห้งไปในช่วงฤดูหนาว
- ต้นโสม โสมเป็นพืชโตช้า ถ้าเพาะจากเมล็ดจะต้องใช้เวลาถึง 5-6 ปี จึงจะเก็บมาใช้ได้ โดยในปีแรกจะมีความสูงเพียง 1 ฟุต มีใบ 1 ใบ ประกอบด้วยใบย่อย 3-5 ใบ และใบจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ใบ เมื่อถึงปีที่ 3 ก็จะเริ่มออกดอก เมื่ออายุ 4-5 ปี ต้นจะสูงประมาณ 2 ฟุต โสมเกาหลีเป็นพืชที่ปลูกยาก ต้องการภูมิอากาศเฉพาะ การเพาะปลูกจะต้องปลูกในที่ที่ไม่เคยปลูกโสมมาก่อนในช่วงระยะเวลา 10-15 ปี ต้องปลูกในที่ที่มีแสงไม่มาก และต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี สามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดจากต้นแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป แล้วต้องนำเมล็ดที่ได้ไปปลูกทันที เพราะหากทิ้งไว้ให้แห้งจะไม่ขึ้นทันที จะงอกใน 8 เดือน แต่ถ้าทิ้งเมล็ดไว้ 4 เดือนแล้วจึงนำมาปลูกในที่ชื้น จะใช้เวลา 9 เดือนจึงจะงอก โสมเป็นพืชที่ชอบดินเหนียว มีค่า pH ประมาณ 5.5-6.0 อุณหภูมิที่ปลูกประมาณ 0-15 องศาเซลเซียส ไม่ชอบแสงแดด จึงต้องทำร่มบังให้ ภูมิอากาศในประเทศไทยจึงไม่เหมาะสำหรับการปลูกโสมและยังไม่สามารถปลูกโสมได้ ในปัจจุบันปลูกกันมากในประเทศเกาหลี จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า โสมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะเรียกว่า “โสมป่า” ส่วนโสมที่มีคนนำมาเพาะปลูกจะเรียกว่า “โสมสวน” โดยโสมป่าจะมีรากขนาดเล็กและยาวกว่าโสมสวน บริเวณส่วนหัวของรากจะยาวและมีการแตกรากมาก รากฝอยจะยาวและเหนียวกว่าโสมสวน และมีคุณภาพที่ดีกว่าอีกด้วย
- รากโสมเกาหลี รากมีขนาดใหญ่อ้วนกลม มีลักษณะอวบแตกเป็นแขนง 2 อัน ลักษณะคล้ายกับขาคน หากดูทั้งรากจะมีลักษณะคล้ายกับคน บางครั้งจึงเรียกว่า “โสมคน” โดยรากแก่ยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร โดยคำว่า “Ginseng” นั้นเป็นภาษาจีน ที่แปลว่า man-root ซึ่งหมายถึง รากไม้ที่มีลักษณะคล้ายคน มองดูคล้ายมีหัวแขนและขา (บางตำรากล่าวว่ารากโสมยิ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากเท่าไร ก็ยิ่งแสดงว่าโสมนั้นมีคุณค่าและมีราคาแพง) เปลือกรากเป็นสีเหลือง มีเนื้อนิ่ม เนื้อในรากเป็นสีขาว แตกรากฝอยมาก การจะเก็บรากโสมจะต้องเก็บในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก่อนการออกดอก ซึ่งจะเป็นช่วงที่โสมมีสารสำคัญอยู่มากที่สุด เมื่อเก็บมาแล้วก็ต้องทำให้แห้งโดยเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เอนไซม์ในรากโสมออกมาทำลาย saponin
- ใบโสมเกาหลี ใบเป็นใบประกอบคล้ายรูปฝ่ามือ ลักษณะของใบคล้ายกับใบหนุมานประสานกายหรือใบต้นนิ้วมือพระนารายณ์ แต่มีขนาดบางกว่า โดยจะมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ออกเรียงตัวเป็นวงรอบลำต้น โดยโสมที่มีอายุประมาณ 2-5 ปี จะมีใบย่อยประมาณ 5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมรี ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนาดกว้างประมาณ 2-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ใบย่อยสามใบด้านบนจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยสองใบที่อยู่ด้านล่าง เส้นหน้าใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนหลังใบไม่มีขน ใบจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ใบ
- ดอกโสมเกาหลี ออกดอกเป็นช่อสีขาวที่ยอดต้น มีก้านดอกยาวชูออกมาจากยอด แบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 4-40 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีสีเหลืองอ่อนอมสีเขียว ในหนึ่งดอกจะมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มี 5 กลีบ หุ้มอยู่ ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน แบบสั้น โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
- ผลโสมเกาหลี ผลมีลักษณะกลมแบนเล็กน้อย เป็นผลสดสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
ชนิดของโสมเกาหลี
รากโสมเกาหลี นิยมนำมาใช้ทำเป็นโสมแดงและโสมขาว เป็นพืชที่ควบคุมของรัฐบาลเกาหลี ห้ามนำพันธุ์ออกนอกประเทศ แต่ในไทยเคยพบว่าเกิดตามธรรมชาติเพียงแห่งเดียว
- โสมขาว (White Ginseng) คือ การนำรากโสมที่ล้างสะอาดแล้วมาตากแดดหรืออบให้แห้งทันที
- โสมแดง (Red Ginseng) คือ การนำรากโสมที่ตัดเฉพาะส่วนที่ดี ๆ มาล้างให้สะอาด เป็นโสมที่ผ่านกรรมวิธีการอบและฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง โดยการนำมาอบด้วยไอน้ำประมาณ 120-130 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 2-4 ชั่วโมง จนเป็นสีน้ำตาลแดง แล้วจึงนำไปอบให้แห้ง จะได้เป็นสีน้ำตาลแดง (ใส) โดยจะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นอีก 4 ชนิด จึงมีราคาแพงกว่าโสมขาว ขายได้ราคาดี
สรรพคุณของโสมเกาหลี
- รากโสมเกาหลี มีรสหวานชุ่ม ขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงอวัยวะภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายชุ่มชื่น ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย
- ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ปรับการทำงานของต่อมไร้ท่อต่าง ๆ
- ช่วยแก้อาการหน้ามืดเป็นลม
- ช่วยแก้อาการเหงื่อออกไม่รู้ตัว กระหายน้ำ
- ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร
- ช่วยแก้หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหายใจผิดปกติ
- โสมมีสรรพคุณเป็นยาช่วยบำรุงหัวใจ โดยออกฤทธิ์คล้ายกับยา digoxin ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ป้องกันภาวะเส้นเลือดอุดตัน
- ใช้รักษาและป้องกันโรคผนังเส้นเลือดแดงใหญ่หนาและแข็ง โดยโสมจะไปช่วยทำให้คอเลสเตอรอลที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดลดน้อยลง
- โสมมีฤทธิ์ต้านการจับตัวกันของเกล็ดเลือด อันเป็นสาเหตุสำคัญของการอุดตันของหลอดเลือด
- โสมมีฤทธิ์สร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งสามารถนำมาใช้รักษาผู้ที่มีเลือดน้อยหรือผู้ที่โลหิตจางและความดันต่ำได้ และยังช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงในกระดูกได้อีกด้วย
- โสมมีฤทธิ์ต้านพิษต่อตับ โดยโสมสามารถช่วยป้องกันการเกิดพิษต่อตับอันเกิดจากคลอโรฟอร์ม คาร์บอนเตตระคลอไรด์และแอลกอฮอล์ได้
- ใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับความผิดปกติต่าง ๆ เช่น หย่อนสมรรถภาพทางเพศ อาการท้องผูก ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ โลหิตจาง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และความเครียด
- ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบในหญิงวัยหมดประจำเดือนหรืออาการวัยทอง
- ช่วยลดอาการผิวหนังแห้งและเหี่ยวย่น จึงช่วยทำให้ผิวชุ่มชื่นขึ้น
- ช่วยเร่งฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วย ช่วยลดอาการข้างเคียงจากการฉายรังสี จากการศึกษาพบว่าโสมสามารถช่วยต่อต้านโรคและอันตรายที่เกิดจากรังสีรวมถึงสารพิษต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุว่าโสมมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัส HIV-1, ป้องกันอันตรายจากรังสีแกมมา, กระตุ้นการสร้างอสุจิ, เร่งการเจริญเติบโตของรังไข่และการตกไข่, ช่วยลดการหลั่งกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ (ส่วนนี้รวบรวมมาจากหลาย ๆ เว็บไซต์แต่ข้อมูลที่ได้มาไม่มีแหล่งอ้างอิง)
วิธีใช้ : วิธีการใช้ตาม ให้ใช้ส่วนของรากโสมที่มีอายุประมาณ 5-6 ปี นำมาล้างให้สะอาด ตากให้แห้งในที่ร่มประมาณ 2-3 วัน แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่มและกินกากยาด้วย โดยขนาดที่ใช้คือขนาด 0.6 กรัมต่อวันส่วนการใช้รากตาม ให้ใช้ครั้งละ 2-10 กรัม หรืออาจใช้ได้ไม่เกิน 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโสมเกาหลี
- รากโสมเกาหลี มีสาร glycoside (ginsenosides หรือที่รัสเซียเรียกว่า panaxoside) ซึ่งมี steroidal saponin ช่วยจับกับน้ำตาลชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมี essential oil, trisaccharides peptidoglycan, nucleosides และพบ ginsenosides ในรากแขนงมากที่สุด ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า รากพบว่า Panaxosides 0.4% ซึ่งประกอบไปด้วย Panaxosides A, B,C, D, E, F, Panaxatriol, Panaxadiol, Ginsenoside Rg1 และพบน้ำมันระเหย ซึ่งมีสาร Panacen, Panasenoside, Panaxynol, Trifolin เป็นต้น
- ส่วนประกอบที่สำคัญของโสม คือ Ginsenoside ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในโสมจะมี ginsenoside อยู่ประมาณร้อยละ 1-2 ของน้ำหนัก ขึ้นอยู่กับชนิดของโสม แหล่งเพาะปลูก รวมถึงกระบวนการผลิตด้วย ในปัจจุบันพบว่าโสมที่มีขายกันอยู่ในท้องตลาดบางชนิดแทบจะไม่มี ginsenoside หลงเหลืออยู่เลย ดังนั้น เมื่อจะหาซื้อโสมมาใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย จึงควรดูส่วนประกอบของโสม คือ ginsenoside เป็นสำคัญ
- โสมมีฤทธิ์เสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย โดยมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายมีการปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
- จากการศึกษาทดลองกับหนูขาว ได้พบว่าโสมมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง แก้ตกใจง่าย ถ้าใช้ในปริมาณมากเกินไปจะมีฤทธิ์ยับยั้งประสาทส่วนกลาง ทำให้ผ่อนคลายการตึงเครียดของประสาทและร่างกายได้
- โสมเกาหลีมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ต่อมในตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมา มีฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอล มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์ต้านพิษต่อตับ
- เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศเกาหลี ได้ทำการศึกษาทดลองจนพบว่า โสมแดงจะมีสาร sapouins เป็นจำนวนมาก ในการศึกษาทดลองพบว่าโสมสามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดสูง เพิ่มเกล็ดเลือด และช่วยป้องกันเส้นเลือดตีบได้ โดยการให้โสมในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งจะไปยับยั้ง 1, 2-diaeylglycerol ซึ่งมีผลไปกระตุ้นให้ไขมันในเลือดสูง สรุปว่า โสมสามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดสูงได้
- จากการศึกษาฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดของโสมเกาหลี โดยทำการทดลองในสัตว์ทดลองหลายชนิด คือ หนู กระต่าย สุนัข โดยให้สารสกัดด้วยน้ำร้อนและแอลกอฮอล์ในสัตว์ปกติและสัตว์ที่ทำให้เป็นเบาหวาน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำร้อนไม่ได้ผลลดน้ำตาลในเลือดทั้งในหนู กระต่าย สุนัข และคน แต่จากการทดลองโดยใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 67-95% พบว่าให้ผลลดระดับน้ำตาลในเลือด ในกระต่ายและหนูที่ทำให้เป็นเบาหวาน โดยพบว่าสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด คือ สารซาโปนิน
- ส่วนการทดสอบฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดในคน เมื่อให้คนไข้เบาหวานจำนวน 21 คน รับประทานโสมในขนาด 2.7 กรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน และทดลองให้พยาบาลที่อยู่เวรดึกรับประทานโสมในขนาด 1.2 กรัม เป็นระยะเวลา 3 วัน ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนอีกการทดลองที่ใช้โสมร่วมกับอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าจะทำให้ผลการรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น
- เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศเกาหลี ได้ทำการศึกษาทดลองผลการลดไขมันในเลือดของโสมแดง ซึ่งมีสาร Insamasanna-eum ที่พบได้มากในรากโสม ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบ นอกจากนี้โสมแดงยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลในเลือด โดยทำการศึกษาทดลองในหนูที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง เมื่อให้สารสกัดโสมแดงแก่หนูทดลองดังกล่าว พบว่าระดับไขมันในเลือดของหนูลดลง ซึ่งสัมพันธ์กับการลดน้ำหนักตัวของหนู และในการบริโภคโสมระยะยาวยังพบว่าหนูดังกล่าวมี HDL-C เพิ่มมากขึ้น โดยพบตัวยา Insamsansa-eum (ISE) และยับยั้ง pancreatic lipase และการทำงานของ HMG0CoA reductase และทำการทดลองเปรียบเทียบผลในการลดไขมันของโสมแดงกับ Cratacgii หรือ Whitehorn herb ซึ่งพืช Hawthorn นี้ใช้ผลมาทำเป็นอาหารเสริมช่วยในการไหลเวียนของระบบเลือดและหัวใจ และช่วยเกี่ยวกับความดันโลหิตต่ำ โดยพบว่าสามารถให้ผลในการลดไขมันในเลือดได้เช่นกัน แต่จะให้ผลน้อยกว่าโสมแดง ซึ่งในอนาคตอาจมีการนำพืชทั้งสองชนิดนี้มาใช้รักษาผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงได้
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า Sapogenin มีความเป็นพิษสูงและมีรายงานการเกิดอาการปวดศีรษะอย่างแรงในหญิงอายุ 28 ปี ที่รับประทานโสมที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ ซึ่งการใช้โสมเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย ซึมเศร้า ท้องเดิน เจ็บเต้านม ประจำเดือนขาด ผื่นคัน และมีอาการบวม
- ส่วนการทดสอบความเป็นพิษในหนูทดลอง เมื่อให้สารสกัดโสมในอาหารหนูหรือสุนัขในขนาด 1.5-15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 13 อาทิตย์ ไม่พบว่ามีความเป็นพิษจากโสมแต่อย่างใด ส่วนการทดลองอีกชิ้นหนึ่ง ที่ให้หนูทดลองกินโสมติดต่อกันนานถึง 25 สัปดาห์ ในขนาด 105-210 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ก็ไม่เกิดพิษหรืออาการดื้อยาแต่อย่างใด[1] ส่วนขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่งเชื่อว่าคงเป็นขนาด 2 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน โดยได้มีการทดลองฉีดสารสกัดโสมเข้าไปในเยื่อบุช่องท้องของหนูทดลอง แต่การทดลองนี้ไม่ได้บอกอาการตอนใกล้ตาย หรือสาเหตุการตายไว้
ประโยชน์ของโสมเกาหลี
- โสมเกาหลีมีประโยชน์ในการช่วยบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง และเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง ช่วยทำให้กล้ามเนื้อมีความสามารถดีขึ้น จึงนิยมใช้เป็นยาบำรุงกำลังในหมู่นักกีฬาประเทศต่าง ๆ เช่น นักวิ่ง นักว่ายน้ำ เป็นต้น
- โสมเกาหลีมีสรรพคุณเป็นยาช่วยชะลอความแก่ ทำให้อายุยืนยาว เพิ่มขบวนการเผาผลาญไขมันเพื่อให้ร่างกายเกิดพลังงาน (เรียกว่า Lipid oxidation) อนุมูลอิสระที่สลายตัวจากออกซิเจน จะเป็นตัวทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ให้เสื่อมสลายลง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความแก่ โดยโสมสามารถเข้าไปทำลายอนุมูลอิสระของออกซิเจน จึงช่วยทำให้เนื้อเยื่อเสื่อมช้าลง ประกอบกับโสมยังมีคุณสมบัติที่ช่วยปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้มีความทนทานต่อความกดดันต่าง ๆ จึงช่วยลดขบวนการของความแก่ชราลงได้ ดังนั้นโสมจึงช่วยชะลอความแก่ชราลงได้
- โสมเกาหลีมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยบำรุงประสาทและสมอง ช่วยในการเรียนรู้ เสริมความจำ แก้ความจำเสื่อม แก้ตกใจง่าย ช่วยลดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ และช่วยผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากโสมมีคุณสมบัติช่วยปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้ทนต่อความกดดันจากภายนอก โดยเร่งขบวนการเผาผลาญอาหารต่าง ๆ เพื่อปลดปล่อยพลังงานออกมาเพื่อต่อต้านความเครียด หากใช้โสมในปริมาณน้อย ๆ จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า สมองปลอดโปร่ง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน แต่ถ้าหากใช้ในปริมาณมาก ๆ ก็จะไปกดประสาททำให้ซึมได้ บางข้อมูลระบุว่าโสมมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินและการมองเห็นด้วย
- ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ทำให้ต้านมะเร็ง และสารก่อกลายพันธุ์ โสมสามารถช่วยเพิ่มความต้านทานต่ออิทธิพลภายนอกที่เข้ามากระทบได้ เช่น ความเหนื่อยล้า ความเครียด โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ (เช่น โรคมะเร็ง) โดยมีสารที่ช่วยทำให้ร่างกายปรับตัวเพิ่มความต้านทานโรคเหล่านี้ได้ ซึ่งเรียกว่า “Adaptogenic Agent” มีการทดลองในสัตว์ที่พบว่าโสมสามารถเพิ่มการตอบสนองของภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น 50% มีปฏิกิริยาการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวต่อสารเคมีสูงขึ้น มีอัตราการทำลายเชื้อจุลินทรีย์หรืออนุภาคแปลกปลอมต่าง ๆ ของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ร่างกายสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา สารเคมีต่าง ๆ ตลอดจนช่วยต่อต้านโรคภูมิแพ้หรือโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
- โสมมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ โดยทำหน้าที่เป็นสารต้านสารก่อมะเร็ง เพิ่มภูมิคุ้มกัน และเป็นสารต้านสารพิษจากสภาวะแวดล้อม โสมจะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และในบางกรณีโสมแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนเซลล์มะเร็งให้เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ตามปกติ อีกทั้งโสมยังชะลอพัฒนาการของโรคเอดส์ที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV ได้อีกด้วย บางข้อมูลระบุว่าโสมสามารถช่วยลดอัตราการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของเซลล์ปกติไปเป็นเซลล์มะเร็งหรือเนื้องอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณกระเพาะอาหารและรังไข่ และการรับประทานโสมเกาหลีเป็นระยะเวลานานก็สามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับ (แต่ไม่สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับที่เกิดจากการดื่มสุราหรือสาเหตุอื่นได้) มะเร็งริมฝีปาก มะเร็งช่องปากและคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งรังไข่
- โสมเกาหลีมีสรรพคุณช่วยลดเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือดในคนไข้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยโสมจะช่วยทำให้ต่อมในตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น จึงช่วยป้องกันการเกิดอาการมึนชาตามนิ้วมือและการเกิดแผลเน่าเปื่อย นอกจากนี้ ginsenoside Rb และ ginsenoside Rc ยังออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลิน จึงมีประโยชน์ในการช่วยลดขนาดการใช้อินซูลินจากภายนอกเพื่อรักษาคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานได้ โดยต้องรับประทานโสมวันละ 2.7 กรัม ติดต่อกัน 3 เดือน
- ช่วยลดความดันโลหิตสูง ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่า โสมเกาหลีนั้นทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เพราะมี ginsenoside Rg1 ในขณะที่โสมอเมริกันจะทำให้ความดันโลหิตลดลง เพราะมี gensenoside Rb1
- ช่วยลดไขมัน ช่วยในการเผาผลาญไขมันให้เกิดเป็นพลังงาน มีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด โดยมีการทดลองทั้งในสัตว์ทดลองและในคน ซึ่งพบว่าผู้ที่รับประทานรากโสมในขนาดวันละ 2.5 กรัม ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3-4 เดือน จะมีปริมาณของคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง แต่ก็มีข้อแนะนำว่าไม่ควรรับประทานโสมติดต่อกันเกิน 1 เดือน จึงไม่สมควรใช้
- โสมมีส่วนช่วยรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ คนสมัยก่อนเชื่อว่าโสมเป็นยาช่วยกระตุ้นกำหนัดหรือความต้องการทางเพศ แต่มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้พิสูจน์แล้วว่า โสมไม่ได้ทำให้ฮอร์โมนทางเพศเปลี่ยนแปลงเลย แต่การที่โสมช่วยทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น อาจเป็นผลมาจากคุณสมบัติของโสมที่ช่วยทำให้สุขภาพจิตและสมรรถภาพทางร่างกายดีขึ้น แต่มีงานวิจัยที่ทำการทดลองกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่ององคชาตไม่แข็งตัว จำนวน 45 ราย โดยให้รับประทานโสมเกาหลี ในขนาด 900 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกันสองเดือน ผลการทดลองพบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โสมจึงช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายได้
ข้อควรระวังในการใช้โสมเกาหลี
- ผู้ที่มีไข้ตัวร้อนห้ามรับประทานโสม และโสมถูกห้ามใช้ในเด็กทารก เด็กเล็ก และหญิงที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับการนำมาใช้ในกลุ่มคนเหล่านี้ และมีข้อมูลสตรีที่รับประทานโสมในขณะตั้งครรภ์เมื่อคลอดลูกอาจมีขนมาก รวมไปถึงผู้ที่ตับอักเสบ พบเอนไซม์ของตับสูงแล้วหรือตับอักเสบจนตัวเหลือง ตาเหลือง หรือตับ ก็ไม่ควรรับประทานโสม
- ควรระมัดระวังในการใช้กับผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
- ยาที่ไม่ควรรับประทานร่วมกับโสม ได้แก่ ยาลดน้ำตาลในเลือด (เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงเกินไป เพราะโสมก็มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้โสม), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เนื่องจากยาทั้งสองอาจมีฤทธิ์เสริมกัน ทำให้มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด), ยากระตุ้นหัวใจ (digoxin), ยาต้านอาการซึมเศร้า (phenelxine) รวมถึงยาแอสไพรินและสุรา
- ห้ามกินโสมพร้อมกับวิตามินซี ภายหลังการรับประทานโสม ฤทธิ์ของโสมจะอยู่ได้นาน 1-2 เดือน ควรรับประทาน 1 เดือน แล้วรออีก 2 เดือน ก่อนเริ่มรับประทานใหม่ แต่ในผู้ป่วยเรื้อรังสามารถรับประทานได้นานกว่านั้น[1]
- โสมแดงอาจมีฤทธิ์กับกาแฟหรือสารที่กระตุ้น
- เพื่อให้ได้ผลสูงสุดในการกินโสม คุณจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง โดยอย่ากินร่วมกัน โดยอาหารอื่นจะต้องกินหลังการกินโสมไปแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง โดยอาหารอื่นนี้ หมายถึง ผลไม้ที่มีความเป็นกรดสูง ๆ หรือน้ำผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มค้น และห้ามกินวิตามินซีร่วมกับโสม เพราะอาหารหรือสารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ จะไปทำลายฤทธิ์ที่ควรจะได้จากโสม
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานโสม โดยอาจมีอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิด ซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ อาการท้องเดินตอนตื่นนอน กินอาหารไม่ย่อย ประจำเดือนขาด ผิวหนังเป็นผื่นคัน มีอาการบวม เป็นต้น
- การใช้โสมเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย ซึมเศร้า ท้องเดิน เจ็บคัดเต้านม ประจำเดือนขาด ผื่นคัน และมีอาการบวม ส่วนผู้ที่รับประทานโสมเป็นระยะเวลานานและรับประทานในปริมาณมาก อาจเกิดกลุ่มอาการที่ประกอบไปด้วย ความดันโลหิตสูง มีอาการนอนไม่หลับ ท้องร่วง และมีผื่น หรือที่เรียกว่า ginseng abuse syndrome
- โสมเป็นของร้อน มีฤทธิ์อุ่น ทำให้บางคนกินแล้วเกิดอาการหงุดหงิด จึงมีคำแนะนำว่าให้กินโสมร่วมกับใบบัวบกซึ่งเป็นของเย็น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โสมเกาหลี” หน้า 187-188.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โสมเกาหลี”. หน้า 147-149.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โสมคน”. หน้า 566.
- งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษทั่วไป, โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่. “สมุนไพรน่ารู้ เรื่อง โสม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th. [11 ก.ย. 2014].
- โอเคเนชั่น, โดย BangkokHospital. “โสม… ราชาแห่งสมุนไพร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.oknation.net. [11 ก.ย. 2014].
6. เว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น