วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

โทงเทง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโทงเทงฝรั่ง 42 ข้อ !

โทงเทง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโทงเทงฝรั่ง 42 ข้อ !


โทงเทง


โทงเทงฝรั่ง


โทงเทงฝรั่ง ชื่อสามัญ Hogweed, Ground cherry

โทงเทงฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Physalis angulata L.[1], Physalis pubescens L. Var[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Physalis esquirolii H. Léveillé & Vaniot.[3]) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)

สมุนไพรโทงเทงฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ต้อมต๊อก บาตอมต๊อก[1] บาต้อมต๊อก[3] (เชียงใหม่), ปิงเป้ง (หนองคาย), ปุงปิง (ปัตตานี), ชาผ่อเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), จะเก๊าหลือ (ม้ง), ตะเงหลั่งเช้า (จีน), ขู่จี๋ หวงกูเหนียง (จีนกลาง), โคมจีน เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5]

หมายเหตุ : โทงเทงชนิดนี้บางตำราก็เรียกว่า “โทงเทงบก” เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นโทงเทงไทยที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalis minima L. (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ต้นโทงเทงไทย) ซึ่งชนิดนี้จะมีขนาดของต้น ใบ และผลที่เล็กกว่าต้นโทงเทงฝรั่ง[3]

ลักษณะของโทงเทงฝรั่ง


  • ต้นโทงเทงฝรั่ง มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบขึ้นเป็นวัชพืชทั่วโลก โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 30-100 เซนติเมตร  ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมากจนเป็นพุ่ม กิ่งเป็นเหลี่ยม ตามข้อมีขนเล็กน้อย ลำต้นอวบน้ำเปลือกเกลี้ยงเป็นสีเขียว ส่วนโคนของลำต้นเป็นสีม่วงแดงและค่อย ๆ จางไปถึงปลายยอด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในประเทศไทยพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้มากทางภาคเหนือ บริเวณป่าเปิดและที่ชุ่มชื้นทั่วไป ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร

ต้นโทงเทง

รูปต้นโทงเทง

  • ใบโทงเทงฝรั่ง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน แต่บางครั้งเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นหยักซี่ฟันห่าง ๆ และบางครั้งก็ดูคล้ายเป็นพูตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียว ท้องใบมีขน มีเส้นแขนงใบประมาณ 5-7 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร[1],[3],[4]

ใบโทงเทง

  • ดอกโทงเทงฝรั่ง ออกดอกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกมีความยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร แฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง มีขนกระจาย มีเส้นกลีบเป็นสีเข้ม ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูประฆังบานคล้ายรูปกงล้อ เป็นสีเหลืองอ่อน เหลืองอ่อนแกมเขียว หรือเป็นสีขาว มีจุดสีน้ำตาลเรียงเป็นวงใกล้กับโคนกลีบดอกด้านใน ผิวกลีบมีขนกระจายด้านนอก ส่วนด้านในมีขนยาวที่โคน หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ปลายเป็นแฉกตื้น ๆ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศผู้หนาเป็นสีน้ำตาลอมสีเขียวยาวเท่ากัน ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนอับเรณูเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เรณูเป็นสีเทา ส่วนรังไข่เป็นรีกลม ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และก้านเกสรเพศเมียยาวเท่ากับก้านเกสรเพศผู้หรืออาจยาวกว่าเล็กน้อย ยอดเกสรเป็นตุ่ม ๆ หยักเป็นพู 2 พูสีเขียว โดยจะออกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[3],[6]

ดอกโทงเทง

รูปดอกโทงเทง

  • ผลโทงเทงฝรั่ง ผลมีกลีบเลี้ยงที่ขยายหุ้มจนมิดผล มีลักษณะบาง มีสัน 10 สัน ตรงสันมีเส้นสีม่วงตามยาว ผิวเป็นเส้นแบบร่างแห ลักษณะของผลภายในเป็นรูปรีเกือบกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนกลมใสเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ส่วนเมล็ดมีลักษณะกลมแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร เมล็ดมีเมือกหุ้มคล้ายกับมะเขือเทศจำนวนมาก โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[3],[4],[6]

รูปโทงเทง

ผลโทงเทง

ลูกโทงเทง

สรรพคุณของโทงเทงฝรั่ง


  1. ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และทางเดินปัสสาวะ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[2]
  2. รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ราก)[4]
  3. ต้นตลอดจนถึงรากเป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ทั้งต้น)[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไอ (ทั้งต้น)[9]
  5. ใช้แก้หวัดแดด ไอร้อนในปอด (ทั้งต้น)[2]
  6. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืด ด้วยการใช้ทั้งต้นแห้ง 1/2 กิโลกรัมนำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลกรวดลงไปเพิ่มความหวานเล็กน้อย โดยให้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 10 วัน และให้หยุดยา 3 วัน หลังจากนั้นให้รับประทานต่อไปอีก 10 วัน แล้วก็พักอีก 3 วัน แล้วค่อยรับประทานต่อไปอีก 10 วัน อาการของหอบหืดจะดีขึ้น (ทั้งต้น)[4]
  7. ทั้งต้นช่วยรักษาไอหืดเรื้อรัง (ทั้งต้น)[4]
  8. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ด้วยการใช้โทงเทง 25 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาอมกลั้วคอบ้วนปาก (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
  9. ใช้แก้อาการปวดศีรษะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  10. ใช้ฝนหยอดตา แก้ตาแฉะ แก้ปวดเคืองในลูกตา แก้ตาอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  1. ใช้รักษาคางทูม (ทั้งต้น)[2]
  2. ช่วยแก้เหงือกบวม ด้วยการใช้โทงเทง 25 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาอมกลั้วคอบ้วนปาก (ทั้งต้น)[2]
  3. ใช้เป็นยารักษาแผลในปาก ด้วยการใช้เยื่อหุ้มผลแห้งที่เอาเมล็ดออกแล้วหนัก 10 กรัม และเปลือกส้ม 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมน้ำตาลกรวดให้พอหวานเล็กน้อย แล้วใช้ดื่มต่างน้ำ (เยื่อหุ้มผลแห้งที่เอาเมล็ดออกแล้ว)[4]
  4. ใช้แก้คออักเสบ แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำละลายกับเหล้า ใช้สำลีชุมน้ำยาอมไว้ข้างแก้ม แล้วกลืนน้ำผ่านลำคอทีละน้อย จะช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือจะละลายกับน้ำส้มสายชูก็ได้ จะช่วยแก้อาการอักเสบในลำคอได้ดีมาก (ทั้งต้น)[1],[4]
  5. ช่วยรักษาโรคคอตีบ (ทั้งต้น)[1]
  6. ช่วยแก้ฝีในคอ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำละลายกับเหล้า ใช้สำลีชุบน้ำอมไว้ข้างแก้ม แล้วค่อย ๆ กลืนน้ำผ่านลำคอทีละน้อย (ทั้งต้น)[1],[4]
  7. ใช้แก้โรคช่องปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ (ทั้งต้น)[9]
  8. แก้โรคเสียงแหบต่าง ๆ (ทั้งต้น)[9]
  9. ใช้แก้เสมหะเป็นสีเหลือง (ทั้งต้น)[2]
  10. ใบมีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาแก้น้ำลายพิการ (ใบ)[9]
  11. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ โดยใช้ต้นสด 150 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 10 วัน (ทั้งต้น)[2]
  12. ใช้เป็นยาแก้ปวดหู (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  13. ใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้บิด ด้วยการใช้โทงเทง 35 กรัม นำมาต้มรับประทานวันละ 2 ครั้ง โดยให้รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 1-4 วัน (ทั้งต้น)[2]
  14. รากใช้เป็นยาขับพยาธิ (ราก)[4]
  15. ใช้เป็นยาระบาย (ทั้งต้น)[9]
  16. ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะแสบร้อน (ทั้งต้น)[2]
  17. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ทั้งต้น)[1]
  18. แก้น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลือง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  19. ช่วยแก้ลูกอัณฑะร้อน (ทั้งต้น)[1]
  20. เมล็ดใช้เป็นยาแก้การเป็นหมัน (เมล็ด)[8]
  21. ทั้งต้นใช้ลดอาการบวมน้ำ (ทั้งต้น)[2]
  22. ช่วยรักษาดีซ่าน (ทั้งต้น)[4]
  23. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (ทั้งต้น)[1] ช่วยรักษาผิวหนังเป็นตุ่มหนอง (ทั้งต้น)[7]
  24. ใช้เป็นยาแก้ปวดแสบปวดร้อน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  25. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้ฝี แก้ฝีหนอง (ทั้งต้น)[1],[2] บ้างว่าใช้ใบและผลเป็นยารักษาฝี (ใบ, ผล)[8]
  26. ทั้งต้นใช้รักษาแผลมีหนอง (ทั้งต้น)[4] บ้างว่าใช้ใบและผลทำเป็นยาทาแก้แผลเปื่อย (ใบ, ผล)[8]
  27. ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวม อักเสบ (ทั้งต้น)[1]
  28. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้เล็บขบ (ทั้งต้น)[2]
  29. ใช้เป็นยาแก้พิษ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ถ้าเป็นยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรืออาจใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ในตำรับยาก็ได้ตามต้องการ ส่วนต้นสดที่นำมาใช้ภายนอก ให้ใช้ตำพอกฝีหนอง หรือจะใช้ต้นสดนำมาต้มกับน้ำ ใช้ไอน้ำอบผิว หรือใช้น้ำต้มล้างแผลก็ได้[2]


ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโทงเทงฝรั่ง


  • ทั้งต้นของโทงเทงพบว่ามีสาร Physaline[2]
  • ในเมล็ดโทงเทงพบว่ามีน้ำมัน 21% ซึ่งในน้ำมันพบว่ามีสาร Linoleic acid, Oleic acid[2]
  • สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ในโทงเทง เป็นสารที่ช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ[9]
  • เมื่อใช้ทั้งต้นนำมาสกัดทำเป็นยาแก้ไอให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบจำนวน 36 คนรับประทาน พบว่าผลการรักษาผู้ป่วยหายดี ประสิทธิภาพในการรักษาคิดเป็น 67%[2]
  • จากการทดสอบใช้โทงเทงในขนาด 35 กรัมเป็นยาแก้บิด ด้วยการนำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง ใช้รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1-4 วัน จากการรักษาผู้ป่วยจำนวน 100 คน พบว่ามีผู้ป่วยหายดีจำนวน 95 คน[2]
  • จากการวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสารสกัดจากต้นโทงเทงมีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ[9]
  • ผลการวิจัยจากประเทศอินเดีย เมื่อ ค.ศ. 1973 พบว่า สารสกัดจากสมุนไพรโทงเทงสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยส่วนที่นำมาใช้ คือ ทั้งต้น ราก และเยื่อหุ้มผลแห้ง[9]

ประโยชน์ของโทงเทงฝรั่ง


  1. ผลสุกของโทงเทงสามารถนำมารับประทานได้ มีรสหวานเอียน (กะเหรี่ยงแดง)[5],[6]
  2. ผลนำมาเป่าลมเล่นแล้วจะทำให้แตกเป็นของเล่นเด็ก (ม้ง)[5]
  3. ด้วยคุณสมบัติของโทงเทงที่มีสรรพคุณในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง จึงได้มีการคิดค้นตำรับยารักษาโรคมะเร็งที่มีส่วนผสมของโทงเทงอยู่ในองค์ประกอบหลัก[9]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรโทงเทงฝรั่ง


  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[2]
  • การรับประทานสมุนไพรโทงเทงในช่วง 1-5 วันแรก บางคนอาจมีอาการเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ อึดอัด หงุดหงิด หลังจากนั้นอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปเอง[4]
  • กลีบเลี้ยงของต้นมีสารพิษโซลานิน (Solanine) ที่สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วหลายชั่วโมงผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอหอย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องร่วง อุณหภูมิร่างกายสูง เป็นต้น ถ้ายังไม่อาเจียนออกจำเป็นต้องล้างท้อง ให้น้ำเกลือ ระวังอาการไตวาย ให้ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ถ้ามีอาการชักแพทย์จะให้ยาแก้ชัก[




เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “โทงเทง (Thong Theng)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 148.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “โทงเทง”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 282.
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “โทงเทง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/.  [24 มี.ค. 2014].
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “โทงเทง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [24 มี.ค. 2014].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “โทงเทง”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [24 มี.ค. 2014].
  6. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5.  “โทงเทง”.  (วีระชัย ณ นคร).
  7. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “โทงเทง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [24 มี.ค. 2014].
  8. พืชสมุนไพร (Medicinal Plants),  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “โทงเทง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/AgrInfo/plant/index.html.  [24 มี.ค. 2014].
  9. ASTV ผู้จัดการออนไลน์.  “สมุนไพรไม้เป็นยา : “โทงเทง” สมุนไพรที่ไม่ไร้ค่า รักษาเบาหวาน ยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ”.  อ้างอิงใน: นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย มีคณ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [24 เม.ย. 2016].

10. เว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
โทงเทง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโทงเทงไทย 17 ข้อ !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ใบโหระพา สูตร 622

ใบโหระพา สูตร 622 Daream Jutamas ไข่เจียวโหระพากุ้งสับ ใบโหระพา ตามใจชอบ (ทอดไปเดี๋ยวมันก็เหี่ย...